เร่งสกัด‘สินค้าจีน’ บทพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล

05 สิงหาคม 2567
เร่งสกัด‘สินค้าจีน’ บทพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล
อาเซียนเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญของประเทศจีนนับตั้งแต่ประเทศจีนเริ่มเปิดตัวเข้าสู่การค้าโลกเมื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เมื่อปี 2544 และประเทศไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาอย่างต่อเนื่องและมูลค่าขาดดุลการค้าสูงขึ้นต่อเนื่อง

โดยในปี 2546 ไทยขาดดุลการค้าจีน 313 ล้านดอลลาร์ ถัดมาอีก 10 ปี ในปี 2556 ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มเป็น 10,494 ล้านดอลลาร์ และล่าสุดในปี 2566 ไทยขาดดุลการค้า 36,635 ล้านดอลลาร์

นอกจากการนำเข้าและส่งออกที่ผ่านมาพิธีการศุลกากรแล้วในปัจจุบันมีการค้าการค้าออนไลน์เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น โดยแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ของจีนได้เข้ามาทำการตลาดหลายประเทศในอาเซียน รวมทั้งได้เข้ามาตั้งคลังสินค้าในหลายประเทศ เพื่อนำเข้าสินค้ามาพักไว้ในประเทศปลายทาง ซึ่งทำให้การส่งสินค้ามีความรวดเร็วเพิ่มมากขึ้น และเป็นอีกช่องทางที่จีนจะระบายสินค้าออกไปต่างประเทศในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศจีนยังไม่ฟื้นตัว

อินโดนีเซียได้ประกาศได้ประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 100-200% ครอบคลุมสินค้านำเข้ากลุ่มสิ่งทอ รวมทั้งมีแผนที่จะพิจารณาขยายการขึ้นอัตราภาษีให้ครอบคลุมสินค้ากลุ่มอื่น เช่น เซรามิก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอางและเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ หลังจากที่สินค้านำเข้าจากประเทศจีนเข้ามาตีตลาดประเทศอินโดนีเซียมาก และส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศอินโดนีเซียหลายรายต้องปิดโรงงาน

ขณะที่มาเลเซียได้ขึ้นภาษีสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีราคาไม่ถึง 500 ริงกิต หรือ 3,900 บาท ในอัตรา 10% ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับประเทศไทยที่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 7% สำหรับสินค้านำเข้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีราคาไม่ถึง 1,500 บาท จากเดิมประเทศไทยให้การยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

แนวทางที่รัฐบาลไทยดำเนินการอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะรับมือกับคลื่นสินค้าจำนวนมากจากประเทศจีนที่เข้ามากระทบภาคการผลิตของประเทศไทย ดังนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลต้องมีแผนรองรับเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างภาคการผลิต การเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเอสเอ็มอี การกำหนดแผนเพื่อลดการขาดดุลการค้ากับประเทศจีน การเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ซึ่งเอสเอ็มอีต่างรอดูว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข จะแก้ปัญหาอย่างไร
แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.